ประวัติศาสตร์การต่อเรือ จากยุคอดีตถึงปัจจุบัน
การเดินทางทางน้ำสำหรับมนุษยชาตินั้น เป็นที่ปรากฎในหลักฐานมานานกว่า 120,000 ปี ณ แถบเกาะบอเนียว ปาปัวนิวกินี และออสเตรเลีย ก่อนที่จะมีการบันทึกประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์เสียอีก เมื่อสมัย 50,000 ปีที่แล้ว มนุษย์ได้มีการริเริ่มพัฒนา การต่อสร้างเรือจากวัสดุลอยน้ำอย่างเช่น ฟาง, กก และเชือก เพื่อผลักดันพาตนเองและหมู่คณะ ข้ามผ่านช่องแคบที่มีกระแสน้ำปั่นป่วนอย่าง ช่องแคบ Lombok ซึ่งเป็นช่องแคบบริเวณน่านน้ำอินโดนีเชียได้สำเร็จ
ความต้องการที่จะเดินทางข้ามทะเล และช่องแคบซึ่งเต็มไปด้วยสภาพอากาศอันเลวร้าย รวมถึงคลื่นลมแรงปั่นป่วน แสดงให้เห็นถึงความจำเป็น และความมุมานะอย่างมากของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ต้องดิ้นรนและเสี่ยงชีวิตต่อสู้กับภัยธรรมชาติ เพื่อความอยู่รอด รวมถึงการเริ่มต้นการล่าอาณานิคม เพื่อขยายอาณาเขตอีกด้วย
การถ่ายทอดศาสตร์การต่อเรือจากรุ่นสู่รุ่น
มนุษย์เรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติรอบตัวได้อย่างชาญฉลาด มีหลักฐานชี้ชัดว่ามีการพัฒนาการต่อเรืออย่างต่อเนื่อง หลักฐานเริ่มตั้งแต่ในสมัยอียิปต์โบราณกว่า 4,000 ก่อนคริสตกาล ในเวลานั้นเริ่มมีโรงอุตสาหกรรมต่อเรือ ที่เรียกว่า “อู่ต่อเรือ” และที่สำคัญศาสตร์การสร้างเรือเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นทั้งในเรื่องการออกแบบและการใช้งาน อย่างเช่นการเริ่มต้นออกแบบ “Ship Hull” หรือ “ตัวเปลือกเรือ” ให้มีรูปร่างเหมาะกับการใช้งานในแต่ละประเภท หลังจากนั้นจึงมีการขึ้นโครงสร้างเรือ และสุดท้ายการนำไม้ชิ้นเล็กๆมาต่อประกอบขึ้นรูปเรือ
เรือในยุคแรกๆ ยังไม่มีการแบ่งสัดส่วนในการใช้งานอย่างชัดเจน อาจเพราะว่าเรือนั้นยังมีขนาดยังไม่ใหญ่มากนัก (ลำใหญ่สุดขนาดประมาณ 80 ฟุต) จึงยังไม่มีการออกแบบสร้าง “Main Deck” หรือ “ชั้นของเรือ” แบบต่างๆ การเดินเรือยังใช้ทั้งแรงลมและแรงพาย ซึ่งต่อมาได้ค่อยๆพัฒนาให้ทันสมัยตามลำดับ ต่อมาในช่วง 2,000 ปีให้หลังจึงเกิดการค้นพบเทคนิควิธีการประกอบเรือใหม่ๆ เช่นเทคนิคการติดยึดแผ่นไม้เรือด้วยลิ่ม การทำเรือท้องกลม ท้องเหลี่ยม รวมถึงการต่อไม้อีกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบจะมีลักษณะเฉพาะ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์การใช้งานที่ต่างกันนั่นเอง

ช่วง 700 ปี ก่อนคริสตกาล
ประเทศจีนได้มีการพัฒนาการต่อเรืออย่างก้าวกระโดด เนื่องจากทหารจีนมีการสู้รบอย่างต่อเนื่อง กองทัพทางน้ำสร้างความได้เปรียบและได้นำพาชัยชนะมาสู่ประเทศ เรือจีนโบราณนี้มีขนาดใหญ่ ท้องเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีการดัดแปลงพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นมากซึ่งเรียกกันว่า “เรือ Multi-Deck” เรือที่ว่านี้มีขนาดใหญ่พอที่จะสร้างป้อมปราการสำหรับยิงเกาทัณฑ์ได้เลย และยังมีหลักฐานปรากฎว่ามีเรืออีกประเภทที่เรียกว่า “เรือ Rammed” เรือที่เอาไว้ขับชนเรือฝ่ายตรงข้ามให้แตกเสียหาย จนถึงขั้นจมน้ำจนอับปางได้อีกด้วย
ข้ามมาถึงยุคกลาง
ประเทศในทวีปยุโรปอย่างเช่น อิตาลี ไม่ว่าจะเป็นเมืองเวนิส ปาดัว เวโรน่า และเมืองอื่นๆ นับเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการออกแบบและสร้างเรือ เพื่อการรบและสงคราม สิ่งที่พัฒนาไปมากคือเรือที่เรียกว่า “เรือ Galley” หรือ “เรือ Galleon” ที่มีโครงสร้างเปลือกเรือ ที่สร้างจากวัสดุที่มีนำ้หนักเบาขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก มีการพัฒนาโครงสร้างเปลือกเรือ โดยซอยเป็นซี่ไม้ละเอียดย่อย เพื่อลดวัสดุการใช้โครงไม้ขนาดใหญ่ แต่เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น ทั้งตัวเรือที่แข็งแรงขึ้นและประหยัดพื้นที่ใช้สอยอีกมากมาย การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ก่อให้เกิดเทคนิคการประกอบเข้าลิ่ม รวมถึงเกิดไอเดียแบบใหม่ๆที่ใช้ในเรือมากมาย
ท้ายสุด ในยุคปัจจุบัน
เราจะเห็นเรือที่มีโครงสร้างตัวเรือหรือตัวเปลือกเรือ ที่เป็นไม้ก็แต่เฉพาะเรือที่มีขนาดเล็กเท่านั้น ในขณะที่เรือขนาดใหญ่หรือเรือเร็วที่ใช้ในการขนส่ง มักมีโครงสร้างเป็นเหล็ก, อลูมิเนียม หรือไฟเบอร์กลาสทั้งสิ้น ทั้งนี้การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีเครื่องจักรไอน้ำเป็นตัวกำเนิดแรงขับ ก็ได้เข้ามาสู่วงการเรือเช่นกัน เช่นมีการใช้เครื่องยนต์ดีเซลทรงพลังขับเครื่องแทนการใช้พลังลมและพลังจากคน ประเทศที่มีหลักฐานและประวัติการต่อเรือที่ยาวนานในอดีต ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ อิตาลี อังกฤษ หรือแม้แต่ญี่ปุ่น ปัจจุบันขนาดอุตสาหกรรมการต่อเรือในประเทศนั้นๆได้ลดลงไปมาก เหลือแค่การต่อเรือประเภทหรูอย่างเช่น เรือสำราญเป็นต้น
ส่วนประเทศที่ก้าวมามีบทบาท เรื่องต่อสร้างเรือในยุคปัจจุบัน เป็นอันดับต้นๆของโลกคือประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งได้กินเปอร์เซนต์การต่อเรือทั่วโลกถึง 41% ซึ่งเกาหลีใต้เป็นผุ้นำด้านการต่อเรือขนาดใหญ่ (Large Vessel) ในเกือบจะทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเรือบรรทุกสินค้า เรือบรรทุกเครื่องบิน เรือรบ หรือแม้กระทั่งเรือสำหรับขุดเจาะน้ำมัน